เคมโป ศิลปะกีฬาการต่อสู้ที่ผสมผสานความเป็นเอกแห่งเอเชีย

สิ่งที่หล่อหลอมหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน และสามารถเปิดประตูของประเทศไปสู่นานาชาติให้เป็นที่รู้จักและยอมรับได้อย่างหนึ่งบนโลกใบนี้ คงหนีไม่พ้นศิลปะกีฬาการต่อสู้ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานของกุญแจอันสำคัญที่ได้นำพาเรื่องราวของประเทศต่าง ๆ ไปเล่าและกล่าวขานให้แผ่นดินบนโลกใบนี้ที่ไม่รู้จักให้ได้รับรู้เรื่องราว เหมือนกับศิลปะกีฬาการต่อสู้แบบ เคมโป ที่ได้เป็นกุญแจของทวีปเอเชีย

นานมาแล้วพระธรรมไตรชิได้เดินทางออกจากประเทศอินเดีย ไปจาริกแสวงบุญยังประเทศจีน เพื่อแสดงธรรมแก่กษัตริย์ในรัชสมัยของราชวงศ์เหลียง การเดินทางที่แสนไกลทำให้ต้องพักจำพรรษาที่วัดเชาลินซู (Shaolin-szu) และได้ทำการเทศนาธรรมที่วัดนั้น พร้อมทั้งสอนวิธีการปฏิบัติธรรมโดยการใช้ร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระธรรม ผ่านทางศิลปะการต่อสู้ที่ฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง และด้วยวินัยทางพระธรรมและการฝึกฝนของธรรมไตรชิที่ได้นำมาแสดงสอนนั้น มีความเข้มงวดมากเกินไป จึงทำให้ลูกศิษย์ได้ลาสิกขาออกไปเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถทนต่อการฝึกฝนทางกายของพระธรรมไตรชิได้ ซึ่งหลังจากนั้นท่านได้อธิบายในเรื่องของการฝึกฝนว่าจุดมุ่งหมายของการแสดงธรรมของพระพุทธศาสนาคือการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และการที่จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์นั้นจะต้องมีร่างกายแข็งแร็งพอที่จะบังคับจิตใจให้ไปถึงจุดนั้นได้ ดังนั้นท่านจึงเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาธรรมที่วัดนั้น ให้มีการฝึกทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยมีปรากฏอยู่ในไอชินะสูตร จนทำให้พระภิกษุในวัดเซาลินซูกลายเป็นวัดที่มีนักสู้ที่ดีที่สุดในประเทศจีน

จนกระทั่งมีการติดต่อทางการค้าระหว่างประเทศจีนกับญี่ปุ่นที่เกาะโอกินาวา ทางจีนจึงส่งทหารและคณะทูตที่ชำนาญการต่อสู้ในแบบวัดเซาลินซูเข้าไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้การต่อสู้แบบไอชินะสูตรได้ถูกเผยแพร่เข้าไปในประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะนำไปผสมผสานกับการต่อสู้ด้วยมือเปล่าแบบพื้นเมืองของเกาะโอกินาวา จนได้รับชื่อใหม่ในศิลปะการต่อสู้ว่าเคมโป โดยได้รวมการออกอาวุธในการต่อสู้ในทุกส่วนของร่างกายทั้ง เตะ ต่อย ทุ่ม บิด ล็อค ทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว

ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของสหพันธ์ศิลปะกีฬาการต่อสู้แบบเคมโป ได้จัดตั้งอยู่ที่จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และได้รับ​ความนิยม​ในภูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น มา​เลเซีย, ​เวียดนาม, ติมอร์ ​และ บรู​ไน ​โดยที่ในประเทศอินโดนีเซียมีผู้ฝึกฝนและเล่นศิลปะกีฬาการต่อสู้นี้ถึง 4แสน คนจนกลายเป็นอีกหนึ่งกีฬาประจำชาติของอินโดนีเซีย และได้ถูกบรรจุลงในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพอีกด้วย