ชินลง ศิลปะกีฬาพื้นบ้านโบราณ 1500 ปี ของดินแดนแห่งพระเจดีย์

                มิงกะลาบา เป็นคำกล่าวทักทายที่หมายความว่าสวัสดีเป็นภาษาของประเทศพม่า หรือดินแดนแห่งพระเจดีย์ที่มีเจดีย์อันสวยงามมากมาย ตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิประเทศ โดยที่ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมหลายอย่างที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งทางด้านการปกครอง ภาษา ประเพณี และกีฬา ซึ่งมีกีฬาพื้นบ้านที่มีชื่อเรียกว่า ชินลง เป็นกีฬาพื้นบ้านที่สืบทอดการละเล่นกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณถึง 1500 ปี

ไปเป็นเจ้าชายในแคว้นของศัตรู เป็นการนิยามอย่างหนึ่งของกีฬาพื้นบ้านที่เรียกว่ากีฬาชินลง โดยที่มาของคำว่าเจ้าชายนั้นมาจากคำว่ามินดา ที่แปลว่าเจ้าชายในภาษาพม่า พร้อมทั้งเป็นชื่อเรียกตำแหน่งของผู้เล่นกลางวง ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของการเล่นกีฬาชนิดนี้ ซึ่งการควบคุมลูกหวายหรือในประเทศไทยเรียกกันว่าตะกร้อให้ไม่หล่นพื้น ขณะที่เต้นรำในท่าทางต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติในขณะที่ทำการแข่งขันหรือฝึกฝนกัน โดยทุกท่าทางที่ใช้ในการแข่งขันเหล่านั้นเป็นท่าทางที่ต้องใช้ทักษะในการร่ายรำประคองลูกเป็นอย่างมาก และตำแหน่งผู้ที่อยู่ตรงกลางวงจะเป็นตำแหน่งในการนับคะแนนของการแข่งขัน

ศิลปะกีฬาพื้นบ้านชินลงจึงเป็นศิลปะกีฬาที่ไม่ใช้คู่ต่อสู้ในการแข่งขันเพื่อเอาชนะ แต่เป็นกีฬาที่ใช้เพื่อนร่วมทีมร่วมมือกันเพื่อไปพิชิตชัยชนะ ทำให้การร่วมทีมในการแข่งขันจะต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการช่วยกันไม่ให้ลูกหวายตกพื้นพร้อมทั้งแข่งขันกับเวลาให้ได้คะแนนมามากที่สุด ซึ่งในการแข่งขันชินลงได้มีกฎให้ใช่ท่าในการแข่งขันเพียง 6 ท่าทาง แบ่งเป็นรายการใช้ท่าพื้นฐาน และรายการท่าที่เล่นยาก โดยใช้นักกีฬา 6 คนในการแข่งขันแต่ละเซ็ตภายในระยะเวลา 30 นาที จากนั้นให้ผู้เข้าแข่งขันมาเดาะลูกหวายที่กลางวง โดยมีผู้เข้าแข่งขันอื่นยืนล้อมรอบ รอเพื่อที่จะเข้าไปเป็นผู้เล่นกลางวงคนต่อไปจนครบนับเป็น 1 คะแนน และภายใน 3 เซ็ต จะต้องชนะ 2 ใน 3 เซตจึงถือได้ว่าเป็นผู้ชนะในการแข่งขันชินลง

การละเล่นศิลปะกีฬาพื้นบ้านชินลงสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปตามท้องถนนในประเทศพม่า เพราะเป็นกีฬาที่สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย พร้อมทั้งแฝงไปด้วยความสนุกสนาน จนกลายเป็นการสร้างสัมพันธ์ให้ก่อเกิดมิตรภาพในระหว่างการเล่นกับผู้เล่นทุกคนอีกด้วย ซึ่งต่อมาในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศพม่าที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหลังจากผ่านมาถึง 44 ปี กีฬาพื้นบ้านชินลงจึงได้ถูกนำมาบรรจุลงในการแข่งขันที่ประเทศพม่าเป็นครั้งแรกในซีเกมส์ปีนั้น โดยที่เจ้าภาพประเทศพม่าอาศัยความชำนาญ กวาดเหรียญทองในการแข่งขันในครั้งนั้นไปได้แบบไร้ผู้ใดมาต่อกร