โววีนัม ศิลปะการต่อสู้ที่เกิดขึ้นมาจากหลักคำสอนอันดีงาม

ประเทศในแถบเอเชียส่วนใหญ่ก็มักมีศิลปะการต่อสู้เป็นของตัวเอง ประเทศเวียดนามก็เช่นเดียวกัน ศิลปะการต่อสู้ของเวียดนามที่มีชื่อของกีฬามาจากรากศัพท์ชื่อเดียวกับประเทศ นั่นก็คือ “โววีนัม” (Vovinam)

จุดเริ่มต้นของศิลปะการต่อสู้ประจำชาติเวียดนาม

โววีนัม ถูกคิดค้นโดย Nguen Loc ในปี 1936 แต่ในเวลานั้นยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งในปี 1938 เขาได้ส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้โววีนัม ไปพร้อมกับถ่ายทอดคำสอนเรื่อง “การปฏิวัติของจิตใจ” เข้าไปด้วย เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้สืบสานความเป็นชนาติเวียดนามเอาไว้

โววีนัมเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้มือ ข้อศอก ขา หัวเข่า รวมถึงการใช้อาวุธ ประเภท ดาบ มี สิ่ว กรงเล็บ ผู้ฝึกจะได้เรียนรู้วิธีการจัดการกับอาวุธที่คู่ต่อสู้โจมตี ตอบโต้ ด้วยการล๊อคและโยก ซึ่งในบรรดาศิลปะการต่อสู้ของเวียดนาม โววีนัมได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งรับรู้ได้จากการมีโรงเรียนเพื่อสอนโววีนัม ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กกว่า 60 แห่ง ตั้งกระจายอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ไทย, กัมพูชา, สิงคโปร์, โปแลนด์, เยอรมัน, เดนมาร์ก, สหรัฐอเมริกา, โมรอคโค, นอร์เวย์, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, อินเดีย, อิหร่าน, สเปน, ไต้หวัน ฯลฯ

แนวทางการต่อสู้ของโววีนัมนั้น มีทั้งแบบที่ใช้อาวุธและไม่ใช้อาวุธ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความยากง่ายในการฝึกฝน รวมถึงการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ อาศัยกำลังและการเร่งเร้าจากคู่ต่อสู้ เทคนิคเน้นการใช้มือ, ข้อศอก, การเตะ, การหลบหลีกและใช้ทั้งเทคนิคการโจมตี รวมถึงการป้องกันที่คล้ายการต่อสู้แบบมวยปล้ำ นอกจากนี้ยังมีการป้องกันตัวเองจากการใช้อาวุธชนิดต่างๆ เช่น มีด, ดาบ, ไม้ยาว และอีกมากมาย ดังนั้นการฝึกฝนโววีนัมจึงเป็นการฝึกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถควบคุมทุกส่วนของร่างกาย และควบคุมจิตใจให้มีสมาธิได้ย่างเหมาะสม

10 หลักการของผู้ฝึกโววีนัม

ผู้อาวุโสแห่งวงการโววีนัมได้ประกาศหลักการ 10 ข้อของผู้ฝึกโววีนัม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมุมมองทางปรัชญาให้ควบคู่ไปกับการฝึกศิลปะการต่อสู้ ซึ่งมีดังนี้

                – ผู้ฝึกฝนโววีนัมจะต้องตั้งมั่นฝึกฝนเพื่อเพิ่มความชำนาญ เพื่อรับใช้ประชาชนและมนุษยชาติ

                – ให้สัญญาว่าจะมีความซื่อสัตย์ต่อความตั้งใจและการสอนโววีนัม และพัฒนาคนรุ่นใหม่

                – เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยจิตวิญญาณและมีหัวใจที่เคารพผู้อาวุโส มีน้ำใจต่อคนรอบข้าง

                – เคารพวินัยอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความประพฤติของตน และให้เกียรติศิษย์ที่เรียนการต่อสู้ทุกคน

                – มีความเคารพต่อโรงเรียนฝึกศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ใช้ทักษะการต่อสู้เพื่อการป้องกันตัวเองและผดุงความยุติธรรม

                – หมั่นสร้างเสริมจิตใจ เสริมสร้างความคิดและพฤติกรรม

                – ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการยึดพรหมจรรย์ มีความภักดีต่อหลักการและจริยธรรม

                – สร้างจิตวิญญาณแห่งความมุ่งมั่นและความแข็งแกร่ง เพื่อเอาชนะความรุนแรง

                – ตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ทำการต่อสู้ด้วยความเพียรและกระทำด้วยความตื่นตัว

                – จงมั่นใจในตนเอง ควบคุมตนเอง สุภาพและใจกว้าง

จากหลักการ 10 ข้อที่กล่าวมา ไม่แปลกใจเลยว่าเพราะอะไร ศิลปะการต่อสู้พื้นเมืองอย่างโววีนัมถึงได้ถูกยอมรับมากขึ้น จนได้มีการยอมรับในระดับเอเชีย นั่นก็คือมหกรรมกีฬาเอเชียอินดอร์เกมส์ 2009

เครดิตภาพ : https://www.pinterest.com/pin/453667362442934695/