ศึกชิงจ้าวความเร็วสัตว์จากตะวันออกกลางสู่ตะวันออกไกล

ทวีปเอเชียทอดตัวยาวจากชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ขาดไปเพียงเล็กน้อยก็จะมีความยาวครึ่งโลก นั่นทำให้กลายเป็นผืนแผ่นดินใหญ่ที่หลากหลายด้วยวัฒนธรรม ประเพณีและค่านิยม ซึ่งมันรวมไปถึงเรื่องของการแข่งขันด้วย

การชิงดีชิงเด่นเรื่องความเร็วที่ใช้สัตว์มาแข่งขันกันมีมาตั้งแต่โบราณ และจำนวนไม่น้อยก็สืบสานต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ฝั่งตะวันออกกลาง พวกเขามีการแข่งขันวิ่งอูฐ สัตว์ประจำภูมิภาคทะเลทราย และการแข่งขันวิ่งสุนัขสายพันธุ์ซาลูกิที่ว่ากันว่ามีประวัติเลี้ยงดูเพื่อใช้ล่าสัตว์ในแถบนี้มาตั้งแต่ 13,000 ที่แล้ว ศูนย์กลางการแข่งขันอูฐในตะวันออกกลางอยู่ที่ประเทศยูเออี นอกจากนี้ก็มีการแข่งม้าทั้งแบบโบราณและสมัยใหม่ รวมถึงการแข่งขันขี่ม้าข้ามทะเลทรายซึ่งรายการที่โดฮา ประเทศการ์ต้าถือเป็นหนึ่งในสุดยอดการแข่งนี้ ขณะที่มีอีกหนึ่งชนิดการแข่งขันของสัตว์ที่ถือเป็นเกมระดับชนชั้นสูงนั่นคือการแข่งขันเหยี่ยวสายพันธุ์ฟอลคอน ซึ่งบรรดาสมาชิกราชวงศ์ในอาหรับนิยมเข้าร่วมการแข่งที่มีเดิมพันสูงมาก

ในย่านเอเชียกลาง อินเดียเป็นประเทศที่มีอารยธรรมมายาวนาน กีฬาที่เกี่ยวกับสัตว์ก็มีหลายชนิด เฉพาะในส่วนที่เป็นการแข่งขันความเร็วก็เช่น กัมบาล่าหรือการแข่งขันวิ่งควายเทียมไถบนทุ่งนาที่เต็มไปด้วยน้ำและโคลน ซึ่งเป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพกัมบาล่าโยกษัตริย์อลูปะแห่งมังกาลอร์ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 300 และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

การแข่งวิ่งช้างเป็นอีกหนึ่งชนิดการแข่งขันที่ชาวฮินดูนิยมจัดขึ้นในช่วงเทศกาลทางศาสนาของพวกเขา งานใหญ่ระดับชาติอยู่ที่เทศกาลบูชาพระศรีกฤษณะในรัฐเกละ เมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกของอินเดีย พวกเขาเรียการแข่งช้างว่า Anayottam ซึ่งเกมวิ่งช้างนี้ไม่ใช่แค่นิยมในอินเดีย แต่ที่เนปาลและเวียดนามก็มีการแข่งขันที่มีชื่อเสียงด้วย

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งผู้คนผูกพันกับการทำนา ไม่น่าประหลาดใจที่แถบนี้จะมีการแข่งขันวิ่งควายหรือวิ่งวัวกันทุกประเทศ ในประเทศไทยจัดงานเทศกาลวิ่งควายที่ชลบุรี กัมพูชาจัดงานฉลองวันประชุม เบ็ง (วันที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณกลับมาเยี่ยมญาติ) ที่จังหวัดกันดาลห่างจากพนมเปญไป 40 กิโลเมตร ในอินโดนีเซียก็เป็นงานของชาวซามาว่าบนเกาะสุมาตรา เรียกว่างานบาราปัง เกโบเพื่อฉลองฤดูกาลเพาะปลูก

ที่เวียดนามและมาเก๊า การแข่งขันวิ่งสุนัขเกรย์ฮาวด์ สุนัขสายพันธุ์ที่ได้ชื่อว่าวิ่งเร็วที่สุดเป็นไฮไลท์ที่ผู้คนเข้าไปเดิมพันกันมาก สนามแข่งขันที่วุ้งเต่าในเวียดนามและคานิโดรมที่มาเก๊านั้น เกมการแข่งขันถูกนำเข้าสู่ระบบพนันถูกกฏหมาย แม้ว่าล่าสุดมาเก๊าเพิ่งจะยุติการแข่งขันวิ่งสุนัขเกรย์ฮาวด์ไปก็ตาม

เหนือขึ้นไปบนแผ่นดินใหญ่ยังเขตปกครองมองโกเลีย ชนชาวมองโกเลียสืบเชื้อสายมาจากชาวเผ่าเร่ร่อนที่เชี่ยวชาญการขี่ม้าและอูฐ รวมไปถึงยุคสมัยโบราณที่นักรบผู้นำของเผ่าได้แสดงความเก่งกาจในเรื่องนี้ทำให้การแข่งขันขี่ม้าและอูฐกลายเป็นวัฒนธรรมเช่นเดียวกับการแข่งขันวิ่งจามรี สัตว์เลี้ยงสำคัญของพวกเขาด้วย

ด้วยวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตที่ผูกพันกับสัตว์ในฐานะสัตว์เลี้ยงและสัตว์พาหนะ บวกกับความรักและสนุกและเกมการพนันของมนุษย์ ทำให้สัตว์ในท้องถิ่นกลายมาเป็นอุปกรณ์ในการแข่งขันกีฬาความเร็ว สืบสานต่อมาจนเกิดเป็นประเพณีและวัฒนธรรมจนปัจจุบันของหลายประเทศในเอเชีย