มารู้จัก ปันจักสีลัต (Pencak Silat) จากกีฬาประจำชาติสู่มรดกโลก

เมื่อปลายปี 2019 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) รวม 15 รายการ  ซึ่งหนึ่งในนั้นมีศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า “ปันจักสีลัต” รวมอยู่ด้วย ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้มีความโดดเด่นอย่างไรถึงทำให้ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก คุณสามารถหาคำตอบได้จากบทความนี้

ความเป็นมาของศิลปะการต่อสู้แห่งภาคพื้นเอเชียอาคเนย์

เดิมทีปันจักสีลัตเป็นศิลปะการต่อสู้ของคนเชื้อสายมลายู ในแถบเอเชียอาคเนย์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน รวมถึงบางจังหวัดในประเทศไทย อย่างเช่น ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลาและสตูล แต่จากการสันนิษฐานเบื้องต้น ปันจักสีลัต น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะคำว่า “ปันจักสีลัต” มาจากภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งหมายถึง ศิลปะการป้องกันตัวเอง

ปันจักสีลัตเป็นศิลปะป้องกันตัวที่เน้นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าและเท้าเปล่า ทุกส่วนของร่างกายถูกนำมาใช้เพื่อการโจมตี กอรปกับการออกลีลาเคลื่อนไหวที่งดงามชัดเจน บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของผู้เล่น

เรื่องราวของปันจักสีลัตจากการบอกเล่าของชาวอินโดนีเซียนั้น เริ่มจากการมาถึงของกษัตริย์ Aji Saka จากอินเดียมาเยือนชวา ตามคำเรียกร้องของชาวชวาในท้องถิ่น เขาได้ออกรบด้วยการต่อสู้ด้วยดาบ ส่วนบรรดานักรบที่มาด้วยกับต่อสู้ด้วยมีดสั้น จนสามารถสังหารกษัตริย์พระองค์เดิม ก่อนขึ้นปกครองในฐานะกษัตริย์ จึงทำให้อินเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย รวมถึงแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยวิถีการต่อสู้ด้วยมีดของอินเดียได้ถูกดัดแปลงโดยผู้คนในชนเผ่าบาตักและบูกิส-มากัสซาร์ ถึงทำให้เกิดศิลปะการต่อสู้ที่เป็นฉบับของอินโดนีเซียโบราณ

เมื่อเข้าสู่ช่วงยุคล่าอาณานิคม อินโดนีเซียถูกรุกรานจากาวยุโรปในด้านการค้าเครื่องเทศ เกิดการกดขี่ชนชาวท้องถิ่นจนทำให้ชาวอินโดนีเซียลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยการใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจร ได้มีบันทึกว่าบรรดาชาวยุโรปถูกสังหารด้วยอาวุธท้องถิ่นอย่างกริช, มีดยาว(Golok), ดาบยาวปลายหยัก (Klewang) เป็นต้น

จนถึงยุคสมัยใหม่ หลังจากยุคล่าอาณานิคมหมดลง ได้มีการเผยแพร่ปันจักสีลัตร่วมกับการเผยแพร่ลัทธิชาตินิยมและความต้องการอิสรภาพจากการล่าอาณานิคม ทำให้เกิดการก่อตั้งสมาคมปันจักสีลัตแห่งอินโดนีเซีย (IPSI) ขึ้นในปี 1948 เพื่อให้ศิลปะกรต่อสู้อย่างปันจักสีลัตเกิดความเป็นหนึ่ง อีกทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการนำปันจักสีลัตไปเป็นกีฬาอีกด้วย แต่เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนไปจนในที่สุดปันจักสีลัตก็ถูกผันเปลี่ยนให้กลายเป็นเกมกีฬา โดยลดความดุดันในเรื่องของการต่อสู้ให้น้อยลง จนทำให้กฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดโดย IPSI ได้กลายมาเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการแข่งขันไปทั่วโลก ปัจจุบันปันจักสีลัตได้ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ต้องสอนในโรงเรียนของอินโดนีเซีย และยังมีการจัดเป็นกิจกรรมการกีฬาในท้องถิ่น ไปจนถึงระดับชาติ ปันจักสีลัตได้รับการยอมรับจนได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งในกีฬาระดับนานาชาติ อย่างเช่น การแข่งขันซีเกมส์ ปี 1987 และ เอเชียนเกมส์ ในปี 2018

ด้วยเอกลักษณ์ที่เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีลวดลายโดดเด่นรวมถึงประวัติอันโชกโชนเกี่ยวกับถิ่นฐานของชาวมลายู จึงไปแปลกใจเลยว่าเพราะอะไรยูเนสโกถึงได้ยกย่องให้ “ปันจักสีลัต” เป็นหนึ่งในมรดกโลก

เครดิตภาพ : https://www.pinterest.com/pin/675610381585651076/