“ ขอแค่ที่โล่ง ๆ กับ ลมแรง ๆ ให้ฉันได้เล่นว่าว ”

ว่าวเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเลยก็ว่าได้ และถ้าถามคนอายุราว 25 – 30 ว่าตอนเด็ก ๆ เคยเล่นว่าวไหม? คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “เคย” อย่างแน่นอน ในยุคเริ่มแรกว่าวถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยคนจีนทำมาจากไม้ไผ่กับผ้าเพื่อให้มันมีน้ำหนักเบาและสามารถลอยอยู่ในอากาศได้ด้วยแรงพัดของลม และมีเชือกที่จะคอยบังคับทิศทางของมันให้เป็นไปตามที่ผู้เล่นต้องการ ต่อมาว่าวได้ถูกพัฒนาให้เป็นไปตามวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละประเทศซึ่งประเทศไทยเราได้ประดิษฐ์ว่าวขึ้นมา 4 ประเภทหลัก ๆ คือ ว่าวอีลุ้ม ว่าวปักเป้า ว่าวจุฬา และว่าวดุ๊ยดุ่ย เป็นต้น ในภายหลังการเล่นว่าวได้ถูกนำมาแข่งขันเป็นกีฬาเพื่อวัดความสามารถในการประดิษฐ์ว่าวและความสามารถในการบังคับว่าวอีกด้วย

ในหลาย ๆ ประเทศมีการจัดแข่งขันว่าว เทศกาลเล่นว่าวขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เทศกาล Hamamatsu Festival ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเทศกาลแข่งว่าวที่ยิ่งใหญ่และมีมาอย่างช้านานในประเทศญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยก็มีการจัดแข่งขันว่าวเช่นกันโดยส่วนใหญ่จะจัดกันในช่วงหน้าร้อนของบ้านเราคือช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม การแข่งขันว่าวในประเทศไทยได้รับความนิยมมากในสมัยก่อนและพระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ทรงโปรดการเล่นว่าวมากเช่นกัน การแข่งขันว่าวในประเทศไทยไม่ได้แข่งขันกันเล่น ๆ แต่จัดการแข่งขันกันเป็นเรื่องเป็นราวอย่างจริงจัง มีเงินรางวัลแก่ผู้ชนะและถ้วยรางวัล ไปจนถึงถ้วยพระราชทานกันเลยทีเดียว การแข่งขันว่าวในไทยมีกฎและกติกาที่ชัดเจนโดยจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ว่าวปักเป้า กับ ว่าวจุฬา โดยจะแบ่งเขตแดนกันชัดเจนฝั่งของว่าวจุฬาจะมีเขตแดนมากกว่าฝั่งของว่าวปักเป้า ฝ่ายปักเป้ามีอาวุธที่เรียกว่า “เหนียง” ลักษณะเป็นบ่วงทำด้วยเชือกเพื่อคล้องส่วนหัวของว่าวจุฬา จะทำให้ว่าวจุฬาเสียหลัก เสียการทรงตัว และว่าวจุฬาจะมีอาวุธที่เรียกกันว่า “จำปา” ลักษณะเป็นซี่ ๆ คล้ายกับฟันปลา ซึ่งทำจากไม้ไผ่นำมาเหลาเอามาประกอบกันหลาย ๆ อันและนำไปติดกับเชือกหรือสายป่านที่ใช้บังคับว่าวเพื่อให้เชือกของอีกฝ่ายเข้ามาติดในจำปาก็จะสามารถทำให้เสียหลัก และเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเหนียงหรือจำปาอีกฝ่ายก็จะทำการวิ่งว่าวเพื่อพยายามให้ว่าวของอีกฝ่ายตกลงมาในเขตแดนของตัวเองก็จะเป็นฝ่ายได้คะแนนไป การแข่งขันว่าวต้องอาศัยความชำนาญในการบังคับว่าวพอสมควรและต้องหมั่นฝึกฝนเป็นพิเศษ

ปัจจุบันนี้การแข่งขันว่าวหรือการเล่นว่าวนั้นหาชมได้ยากมากแล้วแม้แต่ในชนบทที่มีทุ่งนากว้างลมแรงๆก็พบเห็นได้น้อยมาก เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตของโลกยุคใหม่เด็ก ๆ ไม่ต้องการทุ่งนาหรือทุ่งหญ้าโล่งกว้าง ไม่ต้องการลมแรง ๆ อีกต่อไปแล้ว มีของเล่นและเทคโนโลยีมากมายเข้ามาทดแทนแต่ก็ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่พยายามอนุรักษ์และสืบสานการเล่นว่าวการแข่งขันว่าวให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป