กาบัดดี้ กีฬาที่ตั้งเป้าสู่โอลิมปิก

การละเล่นอย่างหนึ่งซึ่งคนไทยเรียกว่า “ตี่จับ” ในสากลรู้จักกันในชื่อ “กาบัดดี้” มันเป็นเกมการละเล่นที่ไม่ต้องมีอุปกรณ์ใด ๆ แค่เพียงมีผู้เล่นและพื้นที่โล่งว่างก็สามารถจะเล่นเกมนี้ได้แล้ว แต่กาบัดดี้ไม่ใช่แค่เกมเล่นสนุก เพราะมันเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม มีมูลค่าทางการตลาดและรอวันเข้าเป็นหนึ่งในกีฬาโอลิมปิก

ในอินเดีย ประเทศที่น่าจะเป็นต้นกำเนิดของกาบัดดี้ตามปรากฎหลักฐานราว 4,000 ปีมาแล้วของชาวทมิฬ นาดู ว่ากันว่ามันถูกใช้แข่งขันเพื่อแย่งชิงเจ้าสาว ในเวลาต่อมาก็เป็นที่นิยมทั้งในแคว้นทมิฬ นาดู แคว้นมหาราชตะ, รัฐวิหาร, รัฐอานธรประเทศ, เขตเตลังคานาและชาวรัฐปัญจาบ กลายเป็นกีฬาประจำชาติของบังคลาเทศเรียกว่าฮาดูดู ขณะที่ในแต่ละแคว้นก็ออกเสียงแตกต่างไปจากต้นแบบของชาวทมิฬ นาดู เช่น พะวาติกในมัลดีฟส์, ควดดี้ในปัญจาบ, ฮูตุตูในอินเดียตะวันตกหรือแม้แต่ตี่จับในไทย

ความแพร่หลายในระดับสากลของกีฬากาบัดดี้เริ่มตั้งแต่ตอนที่สมาคมกาบัดดี้ของอินเดียกำหนดกติกาอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นสมาคมกาบัดดี้ของประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มก่อตั้งตาม และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาพันธ์กาบัดดี้แห่งเอเชีย ที่ประเทศเนปาลเด็ก ๆ เล่นกาบัดดี้ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ขณะที่กองทัพอังกฤษก็เอากาบัดดี้เข้ามาเป็นหนึ่งในกิจกรรมของกองทัพเพื่อสร้างความสนุกและรักษาความฟิตของกำลังพล โดยมันถูกนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรพร้อมชาวอินเดียและปากีสถานอพยพ

ความนิยมของกาบัดดี้ไม่ใช่แค่เกมเล่นสนุก เพราะอินเดียทำให้มันกลายเป็นกีฬาอาชีพ การแข่งขันโปร กาบัดดี้ ลีกซึ่งดำเนินการก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดยการสนับสนุนของสโมสรคริกเก็ตในอินเดียน พรีเมียร์ ลีกได้ส่งเกมกาบัดดี้เข้าสู่การถ่ายทอดทางโทรทัศน์ มันได้รับความนิยมอย่างสูงด้วยยอดผู้ชม 435 ล้านคนผ่านการถ่ายทอดสดทั้งฤดูกาล เฉพาะในนัดชิงนัดเดียวก็มีผู้ชมมากถึง 86.4 ล้านคน

ในระดับเอเชียนั้นนอกจากการที่มันถูกนำเข้ามาเป็นกีฬาสาธิตในเอเชี่ยน เกมส์ ปี 1982 ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพ หลังจากนั้น 8 ปีมันก็ถูกบรรจุเป็นกีฬาถาวรในการแข่งขันชิงความเป็นหนึ่งของชาวเอเชีย ในระดับทวีปก็มีการจัดแข่งขันรายการกาบัดดี้ชิงแชมป์เอเชียอย่างต่อเนื่องมาครบ 10 ปีในปี 2017 และการแข่งขัน 6 สุดยอดประเทศในกีฬากาบัดดี้ด้วยรายการกาบัดดี้ มาสเตอร์ที่ดูไบที่เพิ่งจัดครั้งแรกในปี 2018 นี้เอง ปรากฏว่าที่กล่าวมาทั้งหมดอินเดียสามารถครองความเป็นแชมป์ทุกรายการสมเป็นเบอร์หนึ่งของกีฬาชนิดนี้ ยกเว้นในเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่เพิ่งจบไป เป็นครั้งแรกที่อินเดียพลาดเหรียญทองเมื่ออิหร่านกลายเป็นชาติแรกที่ไม่ใช่อินเดียที่ชนะเลิศการแข่งขันระดับนานาชาติ

กาบัดดี้ได้รับความพยายามในการผลักดันเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกมาตั้งแต่การแข่งขันที่กรุงเบอร์ลิน ในปี 1938 แต่มันไม่สามารถสร้างความสนใจให้กับผู้ชมการแข่งขันได้ และอีกเหตุผลหนึ่งที่มันไม่ได้รับการอนุมัตินั่นก็เพราะความนิยมในการเล่นกาบัดดี้ ณ ตอนนั้นมีไม่ถึง 50 ประเทศ และตอนนี้กฏใหม่ของการอนุมัติชนิดกีฬาใด ๆ เข้าสู่โอลิมปิกก็ขยับจากการเล่นและฝึกฝนมากกว่า 75 ประเทศในอย่างน้อย 4 ทวีป

นับถึงตอนนี้อินเดียได้สร้างให้โปร กาบัดดี้ ลีกกลายเป็นสตาร์ดวงใหม่ของการแข่งขัน มันทำให้สายตาของผู้คนจับจ้องมายังกีฬาชนิดนี้มากขึ้น และจำนวนประเทศที่อินเดียส่งเสริมและสร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดการก่อตั้งสมาคมกาบัดดี้ขึ้นก็มีใกล้เคียงเกณฑ์ของโอลิมปิกเข้าไปทุกที ไม่แน่ว่าโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นในปี 2020 กาบัดดี้อาจจะผ่านเกณฑ์พิจารณาอย่างเร่งด่วนก็ได้